Thursday 15 April 2010

ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ โดย ร้อยเอกประชุม สุขสำราญ ๐ ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระที่ทรงคุณวิเศษอยู่หลายประการ ยังผลให้ "พระสมเด็จ" ที่ท่านสร้างได้รับความนิยมอย่างสูง แม้นคาถา "ชินบัญชร" ก็ยังเป็นที่นิยมสวดภาวนา จนเป็นคาถาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลผลที่ปรารถนาได้สารพัด ทั้งนี้ก็ด้วยบารมีแห่งคุณวิเศษของท่านนั่นเอง เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต มีอายุยืนยาวถึง 5 รัชกาล คือ เกิดใน พ.ศ. 2331 (รัชกาลที่ 1) และสิ้นใน พ.ศ. 2415 (รัชกาลที่ 5) และเชื่อกันว่า เจ้าประคุณเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วย ผมเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ พูดถึงประวัติของท่านโดยสรุปว่า "เกิดที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ สิ้นที่วัดระฆัง" เพราะฉะนั้น ท่านจึงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ในสถานที่ที่ท่านเกี่ยวข้องอยู่นั้น นัยว่าเพื่อให้สมกับชื่อ "โต" ของท่าน เช่นที่วัดเกตุไชโย อ่างทอง, หลวงพ่อโต วัดอินทร์ บางขุนพรหม กทม. เป็นต้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ท่านประพฤติปฏิบัติแปลกๆ ซึ่งพระรูปอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ และเมื่อท่านทำแล้ว แทนที่จะถูกตำหนิ ติเตียนกล่าวโทษท่าน แต่กลับได้รับความนิยมนับถือยิ่งขึ้น แม้พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมมติเทวดาก็ยังยินยอม ไม่ถือโทษ พระราชทานอภัย ทั้งนี้เพราะท่านทรงอภินิหารเป็นวิสามัญบุคคล เรียกว่าเป็นบุคคลประเภท "ปาปมุติ" ทำอะไรก็น่ารัก น่านับถือไปหมด ว่างั้นเถอะ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เองก็เคยพูดถึงความประพฤติของท่านอยู่เสมอว่า "ที่เขาชมว่าขรัวโตดี นั่นแหละคือ ขรัวโตบ้า ที่เขาติว่านั่นแหละคือ ขรัวโตดี" หรือท่านพูดว่า "ทีขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี, ทีขรัวโตดี ก็ว่าขรัวโตบ้า" เป็นงั้นไป .............................................................. ๐ ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก ความเป็นอัจฉริยะของท่านนั้น มีมาแต่เยาว์วัย เมื่อครั้งเป็นสามเณรโต ก่อนจะย้ายไปอยู่วัดระฆัง พระอาจารย์ที่วัดระฆังยังฝันไปว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง เข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด ซึ่งพระอาจารย์ตื่นขึ้น ก็เกิดความมั่นใจว่าฝันนั้นจะเป็นนิมิตว่าท่านจะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง วันรุ่งขึ้น สามเณรโตก็ถูกนำตัวมาฝาก ท่านจึงรับไว้ด้วยความยินดี สามเณรโตเป็นช้างเผือกจริงขนาดไหนก็ลองฟัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ท่านพูดถึงสามเณรโตดูก็ได้ว่า ก่อนจะเรียนหนังสือ (สมัยนั้นเขาแปลหนังสือจากคัมภีร์ภาษามคธ เป็นภาษาไทย) ท่านก็ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า "วันนี้จะเรียนตั้งแต่บทนี้ ถึงบทนี้นะขอรับ" เสร็จแล้วเวลาเรียนก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ ท่านทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอาจารย์ว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก" .............................................................. ๐ หนีสมณศักดิ์ ท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะเรียนรู้พระปริยัติธรรมอย่างที่เรียกได้ว่า "หนังสือดี" ก็ไม่เข้าแปลหนังสือสอบเป็นเปรียญ และไม่รับยศตำแหน่งทางสงฆ์ แต่ก็ประหลาด ท่านไม่เข้าสอบเป็นเปรียญ แต่ก็เรียก "พระมหาโต" ตั้งแต่บวชพรรษาแรกมา บางท่านก็เรียกว่า "ขรัวโต" เพราะท่านมักประพฤติแปลกๆ จะทำอย่างไรก็ทำตามความพอใจของท่าน ไม่ถือสาหาความกับใคร ขนาดรัชกาลที่ 3 จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอตัวเสีย และมักหลบหนีไปพักแรมที่ห่างไกล เรียกว่า "ไปธุดงค์" เพราะกลัวว่าจะต้องรับสมณศักดิ์นั่นเอง แต่ก็น่าแปลกนะครับ คนเราลองมีบุญเสียอย่าง ลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญพระ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมหลั่งไหลมาเอง ไม่ต้องเขียนประวัติเชียร์ตัวเอง ก็ย่อมได้อยู่ดีแหละ .............................................................. ๐ หนีไม่พ้น ในรัชกาลที่ 4 เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต หนีไม่พ้น ต้องรับสมณศักดิ์ในตำแหน่ง "พระธรรมกิตติ" พอพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว มีพระดำรัสว่า "ในรัชกาลที่ 3 หนี ไม่รับสมณศักดิ์ คราวนี้ทำไมไม่หนีอีกหล่ะ..." ท่านถวายพระพรว่า "ก็รัชกาลที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้านี่ (คือพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นพระองค์เจ้า ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า) เป็นแต่เจ้าแผ่นดินเลยหนีได้ (ทำนองว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินหนีขึ้นฟ้าก็พ้นได้) ส่วนมหาบพิตรเป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะหนีไปข้างไหนพ้น" ครั้นเสร็จการพระราชพิธีพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวังหอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ พอถึงวัดระฆัง ท่านก็เดินร้องบอกดังๆ ว่า "ในหลวง ท่านให้ฉันมาเป็นสมภารวัดระฆังจ้าๆ" พระเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มาคอยรับต่างก็เดินตามท่านไปเป็นขบวนใหญ่ เมื่อบอกกล่าวรอบวัดแล้ว ท่านจึงได้ขึ้นกุฏิ .............................................................. ๐ วิธีปราบพระนอกรีต เมื่อท่านเป็นสมภารวัดระฆังนั้น ปรากฏว่ามีพระเณรประพฤติล่วงพระวินัย ท่านก็ไม่กล่าวห้ามปรามหรือลงโทษทัณฑ์แต่อย่างไร ท่านใช้วิธีทำให้ผู้ทำผิดเกิดความละอายทีหลังก็ไม่กล้าทำอีก ครั้งหนึ่งพระ 2 รูปทะเลาะกัน ทุ่มเถียงกันที่หน้าวัด เสียงเถียงกันดังลั่นไปหมด เถียงกันไปเถียงกันมากลายเป็นท้าชก เมื่อถูกท้าอีกองค์ก็บอก "พ่อไม่กลัว" "พ่อก็ไม่กลัว" พระจะชกต่อยกันเสียแล้วล่ะครับ เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ได้ยินเสียงเอะอะอย่างนั้น ก็เอาดอกไม้ ธูปเทียนเข้าไปหาพระที่เถียงกันนั้น นั่งประนมมือพูดว่า "พ่อเจ้าประคุณ ฉันขอฝากเนื้อฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นแล้วว่าพ่อเจ้าประคุณเก่งนัก นึกว่าเอ็นดูฉันเถิดพ่อคุณ" พระ 2 รูปนั้น ได้ฟังต่างก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ ต่อมาเกิดความละอายและเสียใจได้เข้าไปกราบ ทำปฏิญาณกับท่านว่า จะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป คราวหนึ่งท่านไปธุระกับนายเทศ ขณะเดินผ่านหลังโบสถ์ พบว่าพระกลุ่มหนึ่งกำลังเตะตะกร้อกัน ท่านเอาพัดด้ามจิ๋วคลี่ออก แล้วยกขึ้นบังหน้า ทำเป็นทีว่าไม่เห็น นายเทศถามว่า "ทำไมท่านจึงไม่ห้าม" ท่านตอบว่า "ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเองแหละ ถ้าไม่ถึงเวลาเลิก แม้เราจะห้าม เขาก็ไม่เลิก" ต่อมาพระเหล่านั้นเตะตะกร้อกันอีก คราวนี้ท่านให้ไปตามพระเหล่านั้นมา ฉันน้ำร้อนน้ำชาผสมน้ำตาลทราย แล้วถามเป็นทำนองอยากรู้ว่า การเตะตะกร้อนี่ต้องฝึกหัดกันนานไหม ลูกข้างลูกหลัง อันไหนเตะยากกว่ากันอย่างไร พระเหล่านั้นรู้เจตนาของท่าน เกิดความละอาย ต่างก็เลิกไม่เตะตะกร้อกันแต่นั้นมา .............................................................. ๐ ความคะนองของเจ้ากู สมัยรัชกาลที่ 3 มีสามเณรที่มาเรียนหนังสือที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะที่คอยอาจารย์มาสอน ก็เตะตะกร้อรอเวลา เพลินไปเลย เจ้าหน้าที่วังเห็นก็มาห้ามปรามแต่ก็ไม่ยอมหยุด คงเข้าทำนองที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเอง ไม่ถึงเวลาเลิก ทำอย่างไรก็ไม่เลิก เจ้าหน้าที่จึงนำความขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ 3 พระองค์กลับรับสั่งว่า "เจ้ากูจะเล่นบ้าง ก็ช่างเจ้ากูเถอะ" เรื่องนี้เป็นมูลเหตุให้พระตามวัดต่างๆ เกิดนิยมเตะตะกร้อกันทั่วไป ด้วยถือว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตำหนิห้ามปราม ความจริง ถ้าเราศึกษาพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 3 โดยตลอดจะเห็นว่า ทรงมีพระราชหฤทัยเสมอด้วยพระโพธิสัตว์ ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนามากมายหลายสถาน ทั้งการบูรณะซ่อมแซมวัดวาอาราม การศึกษาของพระภิกษุสามเณร จนขนาดให้เปิดพระราชวังให้เป็นสำนักเรียน เรื่องจะไปตำหนิพระเณรนั้น ย่อมไม่ทรงกระทำเป็นแน่ แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างขวางของพระองค์ ส่วนผู้มีจิตใจคับแคบก็มักจะหาความใส่กันอยู่เรื่อย อย่างคราวมีงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีพระเณรเที่ยวเดินปะปน เบียดเสียดกับคฤหัสถ์ชายหญิง พลุกพล่านไปหมด ก็มีคนนำเรื่องนี้กราบทูล รัชกาลที่ 3 ก็รับสั่งว่า ".... คนก็มากด้วยกัน ก็ต้องเบียดกัน ! เป็นธรรมดา" เข้าใจได้อย่างนี้ ก็สบายใจทั้งพระทั้งโยมแหละครับ .............................................................. ๐ สวดมนต์จังหวะแปลก คราวหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปธุระ ขากลับผ่านมาทางวัดชนะสงคราม พบพระลูกวัดของท่าน คือวัดระฆังนั่นแหละกำลังสวดตลกคะนองที่วัดนั้น ท่านจึงแวะเข้าไปนั่งยองๆ ตรงหน้าพระสวดนั้น แล้วประนมมือกล่าวว่า "สาธุ สาธุ สาธุ" แล้วลุกขึ้นเดินหลีกไป พระเหล่านั้นรู้สึกตัวว่าตนทำผิด ทำให้สมภารวัดต้องอับอายขายหน้า ก็เกิดความละอาย บางองค์ก็สึก องค์ที่อยู่ก็ตั้งใจสังวรไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก สมัยก่อน การสวดตลกคะนองเป็นที่นิยมแพร่หลาย บางครั้งพระนักสวด สวดหยาบโลนจนเสียสมณะสารูป ไม่สมที่เป็นพระ ต้องถูกลงโทษ มีพระบรมราชโองการให้ชำระพระสวดรำต่างๆ ส่งมาเป็นทหารก็มี สึกเอามาเป็นไพร่หลวงก็มี สมัยนี้จะหาวัดที่มีพระสวด เล่นกระแทกจนด้ามตาลปัตรหักนี่หายาก นานๆ จะได้ยินสักครั้งหนึ่ง .............................................................. ๐ ตีกันเพราะกรรมเก่า ต่อมาครั้งหนึ่ง พระวัดระฆังเกิดทะเลาะกันรุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือตีกันหัวแตก องค์ที่ถูกตีมาฟ้องเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ช่วยชำระคดีให้ที แต่ท่านบอกกับพระองค์นั้นว่า "คุณตีเขาก่อนนี่จ๊ะ" "กระผมไม่ได้ตี มีคนเป็นพยานได้" พระรูปนั้นเถียง ท่านก็ยังยืนยันว่า คุณตีเขาก่อน อยู่นั่นเอง พระรูปนั้นไม่พอใจ จึงไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณ ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ไม่ยอมให้ความเป็นธรรม เราถูกตีก็บอกว่าเราตีเขาก่อน ทั้งทีไม่ได้ตีเลย สมเด็จพระวันรัตจึงถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ยังยืนยันคำพูดเดิม สมเด็จพระวันรัตจึงถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าพระองค์นี้ตีเขาก่อน ท่านก็ตอบว่า รู้ได้ตามพระพุทธภาษิตว่า "เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร นี่เป็นเวรต่อเวรมันตอบแทนกัน" (หมายถึงองค์ที่ถูกตีนั้น เมื่อก่อน-ชาติก่อนเคยตีเขามาก่อนแล้ว) "ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับภาระช่วยระงับอธิกรณ์นี้ อย่าให้เป็นเวรกันเถอะ" ท่านจึงให้โอวาทว่า ให้ตั้งอยู่ในสมณสัญญา มีหิริโอตตัปปะ และไม่พึงจองเวรอาฆาตมาดร้ายกันต่อไป แล้วท่านก็เอาเงินทำขวัญให้แก่พระที่ถูกตี 12 บาท บอกว่า ท่านทั้งสองไม่มีความผิด ฉันเป็นผู้ผิด เพราะฉันปกครองไม่ดี .............................................................. ๐ ร้อยคำสอนไม่เท่ากับหนึ่งตัวอย่าง ว่ากันว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคนเจ้าระเบียบ รักสวยรักงาม เมื่อไปพบเห็นที่ใดที่พระเณรทำสกปรก เช่นทิ้งเปลือกเงาะ ทุเรียน หรือเม็ดผลไม้ ไปทางหน้าต่างกุฏิ ท่านก็เก็บกวาดจนสะอาดเรียบร้อย พระเณรเห็นเข้าก็ไม่กล้าทำสกปรกอีก บางครั้งพระเณรไม่ลงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ท่านก็ลงไปทำแต่องค์เดียว สวดมนต์องค์เดียว ไม่ช้าพระเณรท่านก็ละอายใจ พากันไปลงทำวัตรสวดมนต์กันหมด หน่วยงานใดก็ตาม ถ้าผู้ร่วมงานไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมส่วนรวม ผู้บังคับบัญชาน่าจะใช้วิธีนี้บ้าง .............................................................. ๐ สายเพราะคอยบอกลา ตามปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ค่อยจะมีเวลาว่าง ต้องไปกิจนิมนต์บ้าง ไปดูแลควบคุมการก่อสร้างบ้าง บางปีก็ไปธุดงค์ ทางวัดระฆังจึงไม่ค่อยได้ดูแลปกครอง ต้องมอบการงานในวัดให้พระครูปลัดดูแลแทน และท่านได้สั่งพระเณรในวัดว่า ถ้ามีกิจไปนอกวัดก็ให้บอกลาพระครูปลัดก่อน แม้ตัวท่านเองจะไปไหน ก็บอกลาพระครูปลัดเหมือนกัน ครั้งหนึ่งท่านไปนิมนต์ไม่ทันงานพระราชพิธี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตรัสถามว่า ทำไมจึงมาล่าช้านัก ท่านจึงถวายพระพรว่า เพราะท่านคอยบอกลาพระครูปลัด ซึ่งยังจำวัดยังไม่ตื่น จึงทำให้ล่าช้า

Wednesday 5 November 2008

"...ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด หากอยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ "
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


หลายครั้ง... เราต้องประสบสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เคล็ดลับของความสำเร็จ คือ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ขอให้กล้าหาญและเชื่อมั่นและจะโชคดี
พระราชดำรัส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

Monday 3 November 2008

10 ธันวาคม 2551 : 76 ปี กับระบอบประชาธิปไตยไทย / รัอยโทวัชระ ขุนชิต

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ Absolute Monarchy คือ ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินและพลเมืองโดยอิสระ ในทางทฤษฎีพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีพระราชอำนาจทั้งหมดเหนือประชาชนและแผ่นดิน รวมทั้งเหนืออภิชนและบางครั้งก็เหนือพระด้วย แต่ในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มักจะถูกจำกัดอำนาจ
"พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน กรุงสยามนี้ไม่ได้ปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุที่ถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อสั่งอันใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้" เมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 พระราชอำนาจที่เคยมีมาอย่างล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ได้ถูกจำกัดลงให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ
หนังสือพิมพ์รายงานเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้ายึดพระราชอำนาจจากรัชกาลที่ 7 ในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ประเทศไทยก็ล้มลุกคลุกคลานกับระบอบการเมืองการปกครองที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด จนกระทั่งในรัชกาลปัจจุบัน พระราชอำนาจทางการเมือง ในรัชกาลที่ ๙ ตามรูปแบบการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทรงอยู่เหนือการเมือง แต่ในบางโอกาสอันเป็นวิกฤตของประเทศ พระองค์จำเป็นต้องทรงใช้พระราชอำนาจ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินต่อไปได้ หรือแม้แต่เพื่อให้ประเทศชาติยังคงดำรงอยู่สืบไป หลายเหตุการณ์ หลายผู้นำที่ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจและบทบาททางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น นายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองมีอยู่หลายท่าน เช่น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม กับนโยบายและแนวคิดชาตินิยมอย่างรุนแรง และประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยมีความเจริญเสมอนานาอารยประเทศ จอมพลแปลกในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบาย "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" โดยพยายามชูบทบาทของตนเองให้โดดเด่นกว่าพระมหากษัตริย์ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด โดนยึดอำนาจการปกครองจากจอมพลสฤษฎดิ์ ธนะรัชต์
เหตุการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ สมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร เหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ที่มีสาเหตุมาจากการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และความรู้สึกโหยหารัฐธรรมนูญ หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม เมื่อปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยเข้าสู่ยุคของการตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี สำหรับคนเดือนพฤษภานั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสูงมากทางสังคม และเป็นพลังที่เข้มแข็ง แต่ในปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุมากขึ้นความกระตือรือร้นและความสนใจยังคงมีอยู่แต่ขาด "พลัง" ที่หายและถดถอยไปตามวัย เป็นที่น่าสังเกตว่าในทุกยุคทุกสมัยที่มีการเรียกร้อง "จิตสำนึกทางการเมือง" กลุ่มคนที่ถูกตั้งคำถามถึงในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมาคือกลุ่ม "ปัญญาชน" หรือ "กลุ่มพลังนักศึกษา" ที่เป็นกลุ่มคนจำนวนมาก เป็น "ความหวัง" ที่คนรุ่นเก่าๆ ต่างมองด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึก "ผิดหวัง" ความผิดหวังที่กลุ่มปัญญาชนที่มีการศึกษาสูงกลุ่มนี้ กลับเป็นกลุ่มทางสังคมที่ขาด "จิตสำนึกทางการเมือง" เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความกระตือรือร้น หรือสนใจกับ "ปัญหาของประเทศ" เพราะในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทยได้อาศัย "พลังของนักศึกษา" เป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนทางสังคมมาโดยตลอด นักศึกษาในปัจจุบันต่างให้ความสนใจกับโลก "ส่วนตัว" ที่มีวงอันจำกัด สนใจในกลุ่มของตนเอง สนใจในเรื่องราวของตนเอง และมองสิ่งที่นอกเหนือจากกลุ่มของตนเป็น "เรื่องอื่น"ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า "สังคม" เกิดการ "เปลี่ยนแปลง" จากสังคมที่มีความเข้มแข็ง เต็มไปด้วยศีลธรรมอันดีงาม ได้กลายเป็นสังคมแห่ง "วัตถุนิยม" และกลายเป็นสังคม "บันเทิงนิยม" ข่าวสารที่ผ่านสื่อต่างๆ ให้กลุ่มปัญญาชนได้รับรู้ จึงเป็นเรื่องราวที่เน้นความสนุกสนานที่ไม่มีสาระเป็นหลัก ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ "การเมือง" เป็นเพียงหัวข้อสุดท้ายที่กลุ่มวัยรุ่นจะพูดถึง
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy หรือ CDRM ต่อมาได้ตัดคำว่า Under Constitutional Monarchy ออก เพื่อไม่ให้สื่อต่างประเทศนำไปตีความว่า คณะปฏิรูปฯ เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็น Council for Democratic Reform (อักษรย่อ CDR) โดยยังคงใช้ชื่อภาษาไทยตามเดิม โดยมีเหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคีของ คนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประชาชนส่วนหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และ อุปสรรค หลายประการ แม้หลายภาคส่วนของสังคม จะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ในวันที่ ๑ ตุลาคม ปีเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดย หัวหน้า คปค. ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้ว่า คนไทยขาดความสามัคคี คนไทยขาดจิตสำนึกทางการเมือง ในช่วงที่เกิดปัญหากับบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงปัญหาอื่น ๆ มักจะมีสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกตั้งคำถามในสังคมไทยอยู่เสมอ คือ "ความรู้สึกสำนึกและรับผิดชอบ" ที่ "คนไทย" มีต่อประเทศไทยนั้น มีมากน้อยในระดับใด เมื่อสังคมไทยขาดพลังความรับผิดชอบทางการเมืองของประชาชน สังคมไทยจึงเข้าสู่สภาวะการขาดซึ่ง "จิตสำนึกทางการเมือง" อย่างสมบูรณ์แบบด้วยเหตุที่ "ชนชั้นกลาง" มีพลังที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆ ในการเรียกร้อง "ความชอบธรรม" และความถูกต้องทางการเมือง ประกอบกับ "พลังของนักศึกษา" ระดับปัญญาชนที่มี "ค่าเป็นศูนย์" สังคมไทยจึงเข้าสู่ยุคของการเมืองไทยที่ "ขาดการตรวจสอบ"การเมืองไทยในยุคหลังๆ จึงเป็นยุคที่นักการเมืองต่างเข้ามา "กอบโกย" ในลักษณะ "ได้ใจ" เพราะมั่นใจว่า "คนไทย" ขาดพลังที่จะแสดงออกทางการเมือง หรือพลังที่มีอยู่นั้นก็ไม่สามารถกดดัน หรือสร้างจิตสำนึกของการเป็น "นักการเมือง" ที่ดีได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นทางการเมืองในช่วงหลังๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น การขาดจริยธรรมทางการเมือง การเล่นพรรคเล่นพวกและรักษาผลประโยชน์ของพวกพ้อง จึงเป็นสิ่งที่นักการเมืองรุ่นหลังต่าง "ย่ามใจ" เพราะรู้ว่าสังคมอ่อนแอและไม่มี "พลัง" ที่เคยเข้มแข็งเหมือนในอดีต "การเมือง" ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวข้อสำคัญที่คนในสังคมถกเถียงแสดงความรู้สึก ก็กลายเป็นหัวข้อลำดับสุดท้าย ที่คนในสังคมจะพูดถึง
การสร้าง "จิตสำนึก" และการปลูกฝั่งให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่จะเติบโตขึ้นในสังคม ตระหนักถึง "ความสำคัญและผลกระทบของการเมือง" จึงเป็นความจำเป็นอันเร่งด่วน ที่ผู้คนในสังคมไทยต้องร่วมมือกันเพราะอนาคตของประเทศไทยต่างฝากไว้ที่ปัญญาชนกลุ่มนี้ ผลกระทบจากการเมืองในอดีตที่ผ่านมานับเป็นบทเรียนที่เปรียบเหมือน "กระจกเงา" ที่สะท้อนว่า ถ้าคนในสังคมขาดความรู้ และไม่ให้ความสนใจกับการเมืองเมื่อไหร่ ผลที่เกิดขึ้นนั้นก็สะท้อนกลับมาในลักษณะที่ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การเอารัดเอาเปรียบในสังคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบมาจาก "การเมือง" ทั้งสิ้นประเทศที่คนในชาติขาด "จิตสำนึกทางการเมือง" จึงเป็นประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาให้มีความเจริญรุดหน้าได้ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่คนในสังคมต้องตระหนักถึงก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ประเทศเกิดวิกฤตอันเนื่องมาจากการเมือง "การขาดจิตสำนึกทางการเมือง" ของคนในสังคมน่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
หมุด ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีข้อความว่า "...ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไปหลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า จะคอยตอกย้ำว่าเมื่อไรคนไทยรู้จักรู้รักสามัคคี รู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่มีต่อบ้านเมืองของเรา

-------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กมล ทองธรรมชาติ การปกครองและการเมืองไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 2521 กรุงเทพมหานคร บริษัทสำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จำกัด
จักษ์ พันธ์ชูเพชร การเมืองและการปกครองไทย : มิติทางประวัติศาสตร์ และสถาบันทางการเมือง พิมพ์ครั้งที่ 4 2545 กรุงเทพมหานคร บริษัท มายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500 พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขปรับปรุง 1ตุลาคม 2544 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชัยอนันต์ สมุทวานิช รัฐศาสตร์ 2535 กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทินพันธุ์ นาคะตะ ประชาธิปไตยไทย กรุงเทพมหานคร โครงการเอกสารและตำรา
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์2539-3854
http://www.matichon.co.th/

ความคิดเห็นเรื่องคุณลักษณะของนายทหารในนักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4

CADETS OPINION IN THE OFFICER CHARACTERISTIC
CHULACHOMKLAO ROYAL MILITARY ACADEMY
ร้อยโทวัชระ ขุนชิต (First Lieutenant Vajara Khunchit)
รักษาราชการอาจารย์ กองจิตวิทยาและการนำทหาร
กรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
บทคัดย่อ : โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นเรื่องคุณลักษณะของนายทหารในนักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยนำผลการวิจัยมาส่งเสริมและพัฒนา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนนายร้อยที่จะสำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปเป็นนายทหารและผู้บังคับหน่วยของกองทัพบกในอนาคต และเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข กฎ ระเบียบ คำสั่ง แบบธรรมเนียม หลักการปกครอง ข้อบังคับของนักเรียนนายร้อยเดิม ให้มีความยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและให้เป็นไปตามความต้องการของกองทัพ สังคม และประเทศชาติในภาวะปัจจุบัน โดยวัดจากแบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS
ผลการศึกษาพบว่าจากกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 113 นาย ส่วนใหญ่อยู่เหล่าทหารราบ(46.0%) นอกนั้นเป็นทหารปืนใหญ่(17.7%) ทหารช่าง(10.6%) ทหารม้า(8.0%) ทหารสื่อสาร(6.2%) ทหารแผนที่(5.3%) ทหารขนส่ง(2.7%) ทหารสรรพาวุธ(1.8%) และทหารสารวัตรกับทหารการข่าว (0.9%) อายุส่วนใหญ่อยู่ที่ 18 – 21 ปี นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด นักเรียนนายร้อยส่วนใหญ่เลือกเหล่าในการเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารเป็นเหล่าทหารบก 99 นาย ทหารเรือ 6 นาย ทหารอากาศ 3 นาย และตำรวจ 5 นาย อาชีพบิดาและอาชีพมารดาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการพลเรือน
ผลการศึกษาค่าคะแนนความคิดเห็นเรื่องคุณลักษณะของนายทหารในนักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4 โดยรวมพบว่ามีค่าคะแนน 130.25 เมื่อแยกเป็นเหล่ารบและเหล่าสนับสนุนการรบพบว่าเหล่ารบมีความคิดเห็นเรื่องคุณลักษณะของนายทหารดีกว่าเหล่าสนับสนุนการรบ ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนคุณลักษณะผู้นำ 14 ประการในนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 4 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความไม่เห็นแก่ตัว มากเป็นลำดับที่ 1 รองลงมาเป็น ความเด็ดขาด ความริเริ่ม ความจงรักภักดี ความไว้เนื้อเชื่อใจ ลักษณะท่าทาง ความกระตือรือร้น ความพินิจพิเคราะห์ ความรอบรู้ ความรู้จักกาลเทศะ สุดท้ายพบว่านักเรียนนายร้อยมีค่าเฉลี่ยคะแนน ความกล้าหาญ ความอดทน ความซื่อสัตย์สุจริต และความยุติธรรม น้อย
คำหลัก : ความคิดเห็น,คุณลักษณะของนายทหาร,นักเรียนนายร้อย,โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
KEYWORD : Opinion,Officer ,Characteristic,Cadets,Chulachomklao Royal Military Academy